งานแถลงข่าวของข้าวแท่ง

บริษัทเอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ ส่งแบรนด์ใหม่ ‘ข้าวแท่ง’ เจาะตลาดเรดดี้ทูอีท 3 หมื่นล้านบาท

บริษัทเอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ (NSL Foods) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าเบเกอรีรายใหญ่มานานร่วม 19 ปี และยังมีสินค้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ อาทิเช่น ปังไท, Natural Bites และ Butterfin มองเห็นโอกาสพัฒนาสินค้าแบรนด์ใหม่ ‘ข้าวแท่ง’ (Rice Bar) ที่จะเข้ามาสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดหมวดอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat)  ที่มีมูลค่ารวมกว่า 20,000-30,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี

บริษัทฯ วางกลยุทธ์ราคาสินค้า (Pricing Strategy) แบรนด์ข้าวแท่งทั้งเมนูคาวหวานในเบื้องต้นอยู่ที่ 29 บาทต่อชิ้น เพื่อทำตลาดสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยบริษัทได้ลดทอนกำไรสินค้าและหันไปบริหารจัดการต้นทุนการผลิตในภาพรวมแทน

“สำหรับสินค้าข้าวแท่งใช้งบลงทุนราว 70-80 ล้านบาท ในรูปแบบสินค้าเฟสแรกยังเป็นแท่งแบบยาว และขณะนี้กำลังพัฒนาข้าวแท่งเป็นรูปแบบอื่นที่สามารถใช้กับเครื่องอบแซนวิชได้ โดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งปัจจุบันเราได้ขยายไลน์การผลิตโรงงาน ทำให้มีกำลังการผลิตอาหารพร้อมทานได้ถึงแบบเต็มที่ถึง 1.5 แสนตัน/วัน”

นอกจากนี้ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ครอบคลุม NSL Foods จึงทำการตลาดช่องทางขายข้าวแท่ง 2 รูปแบบหลัก ได้แก่

        1.ร้านสาขาต้นแบบ (Flagship store) แห่งแรกภายใต้ชื่อ Rice Bar by NSL สยามสแควร์วัน เพื่อสะท้อนและสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยในอนาคตจะขยายไปยังสาขาอื่น ๆ อาทิ สถานีรถไฟฟ้า อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย  รวมถึงการจำหน่ายแบบตู้กดินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ในชุมชนต่าง ๆ ด้วย 

        2.โมเดลแฟรนไชส์ เห็นความชัดเจนในปีหน้า

สำหรับ NSL Foods ปัจจุบันรายได้ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2565 อยู่ที่ราว 3,200 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

        1.รายได้จากการรับจ้างผลิต (OEM) กลุ่มแซนวิช เอแคลร์ ภายใต้แบรนด์อีซี่เทสต์ อีซี่สวีท และเซเว่น เฟรช ให้แก่เซเว่น อีเลฟเว่น คิดเป็น 85% 

        2.รายได้จากการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง ในกลุ่มเบเกอรี่และขนมขบเคี้ยว ได้แก่ บัตเตอร์ฟิน ชิลี เนเชอรัล ไบท์ และปังไท คิดเป็น 15%

โดยยุทธศาสตร์ของ NSL Foods คือต้องการบาลานซ์พอร์ต กระจายความเสี่ยงธุรกิจ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 โครงสร้างรายได้จากธุรกิจรับจ้างผลิต OEM ให้แก่เซเว่น จะเหลือ 70% ส่วนธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าในแบรนด์ของตนเองจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30%

“สำหรับปี 2565 วางเป้าการทำรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท จากปิดปี 2564 มีรายได้ 3,000 ล้านบาท”